หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2488) เป็นยุคเฟื่องฟูของศิลปะการถ่ายภาพแนว Street Photography ดูได้จากการกำเนิดขึ้นของช่างภาพ Street หลายๆคน อาทิเช่น Robert Frank, Tony Ray-Jones, Diane Arbus, Lee Friedlander, Garry Winogrand หรือกระทั่งช่างภาพที่ไม่มีใครรู้จัก(ในสมัยนั้น)อย่าง Vivian Maier รวมไปถึงช่างภาพ Street ในกลุ่มของ New York School ก็สร้างงานในช่วงเวลานี้ ทางฟากฝั่งเอเซียมีช่างภาพอย่าง Fan Ho, Shigeichi Nagano และที่เมืองไทยมีช่างภาพท่านหนึ่งได้เดินถ่ายภาพริมถนนในกรุงเทพฯในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน อาจเรียกได้ว่าช่างภาพท่านนี้ถ่ายภาพ Street ก่อนหน้าที่ Robert Frank จะออกเดินทางข้ามอเมริกาเพื่อสร้าง The Americans ขึ้นมาซะอีก ท่านผู้นี้คือศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่ายศิลปะ) เมื่อปี 2538 คุณจิตต์ จงมั่นคง (Chitt Chongmankong : 1922 - 2009)
Krung-Thep Bridge - 1958
Difficulty - 1949
ครอบครัวของคุณจิตต์อพยพมาจากเมืองจงซาน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ประกอบอาชีพด้วยการขายอาหารและกาแฟในกรุงเทพฯย่านสี่พระยา คุณจิตต์สูญเสียบิดาไปเมื่ออายุ 5 ขวบ พออายุได้ 16 ปีก็ต้องออกจากโรงเรียนอัชสัมชัญบางรักเนื่องจากพี่ชายคนโตที่สนับสนุนเรื่องค่าเล่าเรียนเสียชีวิตลง หลังจากนั้นคุณจิตต์ก็เริ่มต้นชีวิตทำงาน โดยไปเป็นช่างซ่อมวิทยุที่ร้านถ่ายรูปแถวถนนสี่พระยา รายได้ประมาณ 12-20 บาทต่อเดือน ที่นั่นคุณจิตต์ได้เริ่มรู้จักการถ่ายภาพ และหลงใหลการทำงานล้างอัดภาพในห้องมืด
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณจิตต์ลาออกจากการเป็นช่างซ่อมวิทยุ แล้วมาสมัครงานอยู่แผนกภาพที่ร้านถ่ายรูปโอสถาคาร แถวถนนเจริญกรุง ทำหน้าที่ที่ตนเองชื่นชอบคือ การทำงานในห้องมืด ล้างอัดขยายภาพ ที่แห่งนี้เองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาเคยเสด็จพระราชดำเนินมาเมื่อส่งฟิล์มให้ล้าง คุณจิตต์แม้ว่าไม่ได้เข้าเฝ้าแต่ก็มีความปลาบปลื้ม และทำงานในห้องมืดถวายอย่างสุดความสามารถ และต่อมาเมื่อคุณจิตต์มีร้านของตัวเองก็รับใช้เป็นผู้ล้างฟิล์มถวายจนถึงอายุ 60 ปี
แม้ว่าคุณจิตต์จะได้เคล็บลับเรื่องการถ่ายภาพบ้างจากร้านถ่ายรูป แต่ส่วนใหญ่แล้วคุณจิตต์เรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเอง ในวันอาทิตย์ที่ไม่ได้ทำงาน คุณจิตต์จะไปดูหนังที่เยาวราชเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพ บางครั้งคุณจิตต์ดูหนังถึง 5 เรื่องในหนึ่งวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังจากอเมริกา ถ้าวันไหนคุณจิตต์ไม่ได้ไปดูหนัง ก็จะออกไปถ่ายรูปในกรุงเทพฯและย่านชานเมือง หรือไม่ก็เปิดดูหนังสือภาพถ่ายจากอเมริกา
หลังจากลาออกจากร้านโอสถาคาร คุณจิตต์ตั้งร้านถ่ายรูปกับพี่ชายชื่อร้าน จงมั่นคง รับถ่ายภาพ อัดขยายภาพ จนมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็ได้แยกตัวออกมาเปิดร้านถ่ายภาพของตนเองชื่อร้าน จิตต์ จงมั่นคง นอกจากจะรับถ่ายภาพและล้างอัดขยายรูปแล้ว ยังรับถ่ายภาพโฆษณาอีกด้วย และถึงแม้ว่างานจะยุ่งวุ่นวายมากแค่ไหน คุณจิตต์ก็ยังหาเวลาออกไปถ่ายภาพตามท้องถนนของกรุงเทพฯอยู่เสมอๆ คุณจิตต์ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน การถ่ายภาพเป็นสิ่งเดียวที่คุณจิตต์ชื่นชอบ คุณจิตต์ไม่ได้มีความตั้งใจ หรือมีแนวคิดที่จะถ่ายภาพเหล่านี้ออกมาเป็นสารคดีที่ดูจริงจัง (เหมือนกับ The Americans) หรืออยากจะบันทึกประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯเก็บเอาไว้แต่อย่างใด คุณจิตต์ถ่ายภาพเหล่านี้เป็นเพียงงานอดิเรก ถ่ายสิ่งที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันริมท้องถนน ซึ่งก็เป็นอารมณ์เดียวกับช่างภาพ Street ในยุคสมัยนี้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
แม้ว่าคุณจิตต์จะเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าทำงานในห้องมืดเป็นส่วนใหญ่ (คุณจิตต์เองถึงกับกำหนดในใจว่า "สามสิบเปอร์เซ็นต์สำหรับการถ่าย เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ต้องทำในห้องมืด") แต่งานด้าน Street Photography ที่ปราศจากการตัดต่อนั้น จัดได้ว่ามีความโดดเด่น ทั้งเรื่ององค์ประกอบภาพที่มีความเป็นเลขาคณิต การจับจังหวะในภาพ และเป็นช่างภาพไทยไม่กี่คนที่่เลือกบันทึกภาพการใช้ชีวิตประจำวันของคนธรรมดาสามัญ ในยุคสมัยที่การถ่ายภาพเมืองไทยผูกขาดให้กับคนที่มีฐานะหรือบุคคลชั้นสูง
ซ้าย: ถนนสี่พระยา พ.ศ.2498 (Siphraya Road, 1955.) ขวา: ฝนปรอย พ.ศ.2498 (Shelter From the Rains. 1955.)
ภาพถ่ายที่น่าสนใจดังเช่นภาพ ถนนสี่พระยา พ.ศ. 2498 (Siphraya Road, 1955.) และภาพ ฝนปรอย พ.ศ.2498 (Shelter From the Rains. 1955.) ซึ่งคาดได้ว่าน่าจะถ่ายในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันนัก เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจับจังหวะ (Decisive Moment) และมีความเป็นเลขาคณิต หรือ ใต้สะพานพุทธฯ พ.ศ.2500 (Long Shadows, 1957.) ที่เป็นภาพของเงาที่ทอดยาว เมื่อถ่ายจากมุมบน แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่น และมีความเป็นสากลอย่างมาก และภาพ Juxtaposition ชั้นดีอย่าง สองพลังแสง พ.ศ. 2532 (Duo Light Energy, 1989.)
ซ้าย :ใต้สะพานพุทธฯ พ.ศ.2500 (Long Shadows, 1957.) ขวา : สองพลังแสง พ.ศ.2532 (Duo Light Energy, 1989.)
ภาพของคุณจิตต์ไม่ได้เป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ หรือภาพสังคมยุคสมัยหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเหมือนหมุดสำคัญที่ปักไว้เป็นหลักฐานให้เรารู้ว่า Street Photography ของเมืองไทยมีที่มา มีครูบาอาจารย์ที่ได้สร้างงานมาก่อน ไม่ได้เกิดมาแบบลอยๆ หรือเอาแต่ยกย่องฝรั่งตาน้ำข้าวอย่างที่บางคนตั้งข้อสังเกต
การเปิดรับสิ่งใหม่ๆจากภายนอกได้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากต้องหันกลับไปศึกษารากเหง้าที่มาของเราด้วยส่วนหนึ่ง
ที่สำคัญที่สุด ต้องไม่ลืมมองย้อนกลับมายังตัวเองด้วย จึงจะครบถ้วนและได้ประโยชน์สูงสุดครับ :-)
by
Akkara Naktamna