ช่างภาพที่อาจได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการถ่ายภาพสตรีท "สี" (Color Street Photography) นั้นเป็น "ผู้หญิง" และเป็นผู้หญิงที่อยู่ในระดับเดียวกับ Walker Evens, Henri Cartier-Bresson เธอได้รับการยกย่องว่า "เป็นช่างภาพที่มีชื่อเสียงที่สุด แต่ถูกรู้จักน้อยที่สุดตอนที่เธอมีชีวิตอยู่" เธอคนนั้นชื่อ
เฮเลน เลวิธ (Helen Levitt)
ช่วงทศวรรษที่ 1930 เป็นช่วงที่วงการถ่ายภาพทั้งฝั่งอเมริกา และฝั่งยุโรปกำลังให้ความสนใจในความอยุติธรรมในสังคม ภาพถ่ายสารคดีจึงได้รับความนิยมในช่วงนี้ เลวิธได้เข้าร่วมสมาคม New York City’s Film and Photo League ซึ่งเป็นสมาคมที่สร้างภาพถ่ายเพื่อสะท้อน และช่วยเหลือสังคม ในกลุ่มมีช่างภาพเป็นที่รู้จักมากมาย อาทิ วอล์กเกอร์ อีแวนส์, อองรี คาร์ติเย เบรซง (HCB)
ปี 1935 HCB มาที่นิวยอร์ค ด้วยโอกาสอันดีนี้ เลวิธจึงขอติดตาม HCB ไปเพื่อเรียนรู้การถ่ายภาพจากเขา เธอเล่าให้ฟังว่า เธอฝึกฝนจากการไปพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี เธอดูภาพเขียนเพื่อเรียนรู้การจัดองค์ประกอบภาพ และเลอวิธตัดสินใจซื้อกล้อง Leica มือสอง ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกันกับ HCB ใช้ สิ่งสำคัญที่เธอได้จาก HCB คือการถ่ายภาพต้องไม่ใช่ "การตัดสินจากสังคม"
สามปีต่อมาเลวิธติดต่อกับ วอล์กเกอร์ อีแวนส์ (Walker Evens) ซึ่งขณะนั้นเป็นช่างภาพสารคดีมีชื่อ เพื่อขอให้เขาดูรูปของเธอ อย่างที่เธอบอกว่า "เป็นวิธีคิดแบบเด็กๆ แต่กลับได้ความเป็นเพื่อนกลับมา" เลวิธช่วย อีแวนส์พิมพ์ภาพถ่ายเพื่อจัดนิทรรศการ และพิมพ์หนังสือ "American Photographs" อีแวนส์สอนบางอย่างกับเธอเช่นกัน "Winkelsucher" เป็นวิธีการที่ทำให้กล้องสามารถถ่ายจากด้านข้างได้ เช่น เราส่องไปข้างหน้า แต่จริงๆแล้วเรากำลังถ่ายภาพจากทางด้านซ้าย โดยไม่ทำให้คนที่ถูกถ่ายรู้ตัว
ฟอร์จูนเป็นนิตยสารเล่มแรกที่ลงตีพิมพ์งานของเลวิธ ในปี 1939 ในหัวข้อของ New York City ในปีต่อมาภาพถ่าย Halloween ของเธอได้ถูกจัดแสดงใน the Museum of Modern Art’s photography department ต่อมาปี 1943 เลอวิธก็ได้แสดงนิทรรศการเดี่ยวในที่เดียวกัน เธอเลี้ยงชีพด้วยการเป็นคนตัดต่อภาพยนตร์ โดยได้รับการจ้างจาก Luis Buñuel ซึ่งแนะนำมาจากเพื่อนของเธออีกทอดหนึ่ง Luis Buñuel จ้างเธอตัดต่อภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเมื่อต้นยุค 40 และอีก 10 ปีต่อมาเธอก็ทำงานประจำเป็นคนตัดต่อ รวมถึงผู้กำกับภาพยนตร์
เธอสร้างภาพยนตร์สารคดีออกมาเรื่องหนึ่งชื่อว่า "In the Street" ซึ่งออกฉายเมื่อปี 1952 เป็นภาพยนตร์สารคดีขาวดำความยาว 14 นาทีที่แสดงถึงเรื่องราวของชีวิตผู้คนในย่านยากจนของนิวยอร์ค หากดูเผินๆมันก็คือภาพสตรีทของเธอที่โลดแล่นอยู่บนจอภาพยนตร์ดีๆนี่เอง
สิ่งที่ทำให้เธอกลับมาถ่ายภาพนิ่งในปี 1959 นั่นคือความนิยมภาพสีที่กำลังก่อตัวขึ้น อย่างที่เธอบอกว่า "ฉันอยากจะลองทำมันด้วยสีดู" เลวิธได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Guggenheim Foundation ถึง 2 ปี เพื่อให้เธอทดลองถ่ายสตรีทด้วยภาพสี และการทดสองภาพสตรีท "สี" ของ เฮเลน เลวิธ สร้างอารมณ์ของ street photography แบบใหม่ขึ้นมา มันน่าหลงใหลไม่แพ้ภาพขาวดำ เธอได้ให้ความเห็นว่า เธอไม่ได้ชอบอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างสีหรือขาวดำ ถ้ามีอะไรฟิล์มอะไรให้ถ่าย เธอก็ถ่ายได้ทั้งนั้น
ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นเหมือนผูับุกเบิกการถ่ายภาพสตรีทที่เป็นสี แต่นักวิจารณ์ศิลปะก็ยังรักภาพสตรีทขาวดำของเธอมากกว่าอยู่นั่นเอง ปลายทศวรรษที่ 1960 ภาพสีจำนวนมากที่เผยแพร่แล้ว และยังไม่ได้เผยแพร่ถูกยกเค้าโดยตีนแมวคนหนึ่ง ซึ่งเรื่องน่าแปลกคือ ตีนแมวคนนั้นไม่แตะต้องของมีค่าชิ้นอื่นๆ ยกเว้นภาพของเฮเลน เลวิธเท่านั้น!
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เธอก็หยุดถ่ายภาพสี เธอไม่ได้ไม่ชอบภาพสี แต่เหตุผลคือ การพิมพ์ภาพสีเลอวิธต้องไปยังร้านอัดภาพพิเศษซึ่งมีอยู่น้อย อีกอย่างเธอสนใจแค่ภาพสีอย่างเดียวซะเมื่อไหร่ และต่อมาไม่นานเธอก็หยุดถ่ายพิมพ์ภาพขาวดำของเธอเนื่องจากปัญหาจากอาการปวดหลังและสะโพก ทำให้เธอยืนนานไม่ค่อยได้ แม้กระทั่งการคล้องกล้อง Leica ไว้ที่คอก็จะรู้สึกหนักมากกว่าคนทั่วไป (จริงๆ Leica ก็หนักอยู่แล้ว) หลังจากนั้นเธอก็หันมาใช้กล้องอัตโนมัติ Contax แทน อีกทั้งเธอยังเป็นโรค Meniere’s syndrome ตั้งแต่เกิดทำให้มีความผิดปกติในหูชั้นใน เลอวิธบอกว่า เธอมีความรู้สึกว่าตัวโคลงเคลงอยู่ตลอดเวลา
หลายสิ่งเปลี่ยนไปคนไม่ออกมาใช้ชีวิตริมถนนอีกแล้ว
"ฉันจะไปในที่ๆมีกิจกรรมหลายๆอย่าง เด็กๆทีเคยอยู่นอกบ้าน เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว มีแต่ถนนว่างเปล่า พวกเขาอยู่ในบ้านดูทีวีกันหมด"
เฮเลน เลวิธ เสียชีวิตอย่างสงบ ด้วยโรคชราในอพาร์ทเมนท์ของเธอเอง รวมอายุได้ 95 ปี
แม้เธอจากไปแล้วแต่เชื่อแน่ว่าความมีชีวิตชีวาของเด็กๆในภาพถ่ายของเธอ ยังคงโลดเต้นไปตามเส้นทางของวัฒนธรรมการถ่ายภาพ Street ตลอดไป
by
Akkara Naktamna