ในความเข้าใจของผม ภาพแนวสารคดีนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเป็นภาพที่ถูกใช้ประกอบบทความสารคดีที่ต้องผ่านการค้นคว้าวิจัยโดยบุคคลอื่นหรือโดยช่างภาพเองในกรณีที่ช่างภาพเป็นเจ้าคนเขียนสารคดีเอง ลักษณะภาพจะเป็นภาพต่อเนื่องจำนวนหลายภาพที่ถูกออกแบบไว้สำหรับเน้นย้ำประเด็นเด่นๆ ในเนื้อหา ดังนั้นโดยธรรมชาติแล้ว ภาพสารคดีจะเป็นภาพที่ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องด้วยตัวของภาพเองโดดๆ เพราะผู้อ่านสามารถรับรู้เรื่องราวผ่านการอ่านเนื้อความและดูภาพหลายๆภาพประกอบกันในการทำความเข้าใจกับเรื่องที่ผู้เขียนสารคดีต้องการจะสื่อ
การทำงานของช่างภาพก็ต้องทำงานภายใต้บริบทของความเป็นสารคดี นั่นก็คือต้องทำความเข้าใจกับประเด็นที่ผู้เขียนสารคดีต้องการสื่อ แล้วออกแบบชุดของภาพถ่ายเพื่อรับใช้ประเด็นเหล่านั้นให้ได้ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพในทางการสื่อสารกับคนอ่านให้มากที่สุด อาจพูดได้ว่าภาพแนวสารคดีนั้นไม่ได้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวจากมุมมองและวิธีคิดของช่างภาพอย่างแท้จริง ภาพถ่ายบางชุดช่างภาพอาจจะไม่ได้คิดเห็นหรือมีมุมมองต่อเรื่องราวเหมือนกับเจ้าของสารคดี หากแต่เป็นวิถีแห่งการทำงานที่ทำตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย และส่วนใหญ่ช่างภาพเองก็มีเวลามากพอสมควรในการวางแผนหรือแม้กระทั่งออกแบบวิธีการถ่ายทำโดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากตัวแบบ (subject)
ในขณะที่ภาพแนวสตรีทโฟโต ทั้งหมดเป็นการกำหนดโจทย์จากตัวช่างภาพเอง เป็นการถ่ายภาพเพื่อนำเสนอความคิดและมุมมองของช่างภาพที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันในสังคม และก็ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนบอกเล่าปัญหาสังคมประวัติศาสตร์มากมายแบบภาพสารคดี อาจเป็นเรื่องมุมมองที่ขำขัน เสียดสี กระตุกให้คนดูต้องหยุดคิดหรือมองอะไรบางอย่างไปอีกมุมหนึ่ง หรือแค่บันทึกว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นที่ตรงนี้ หากแต่ความท้าทายของการถ่ายภาพแนวนี้ก็คือการที่ช่างภาพต้องมองให้เห็นสิ่งที่ต้องการนำเสนอ และต้องใช้ความสามารถในการถ่ายภาพเพื่อ “หยุด (Freeze)” ภาพเบื้องหน้าไว้ในจังหวะที่พอดีที่สุด เพื่อการสื่อสารที่สมบูรณ์ทั้งข้อมูลและอารมณ์ที่ต้องการสื่อไปยังผู้ชมภาพ โดยแทบไม่มีโอกาสแก้ตัวมาถ่ายใหม่ถ้าเกิดข้อผิดพลาดขึ้น โดยอาจจะอธิบายลักษณะเด่นๆ ของภาพถ่ายแนวนี้ได้ดังนี้
(Left) Nick Turpin, (Right) Matt Stuart
หัวใจสำคัญคือการเล่าเรื่อง (Story Telling)
สิ่งสำคัญที่สุดในการ เล่าเรื่อง ไม่ใช่เรื่องที่จะเล่า ไม่ใช่อุปกรณ์หรือกล้องที่จะใช้ หากแต่คือตัวคนเล่าเรื่องเองว่ามีเรื่องที่น่าสนใจที่จะเล่าแค่ไหนและมีความสามารที่จะเล่ามันผ่านเทคนิคการใช้กล้องของตัวเองอย่างไร ตอนที่ อองรี กาติเยร์-เบรสซง (Henri Cartier-Bresson –เรียกสั้นๆว่า HCB) ช่างภาพชาวฝรั่งเศสค้นพบว่าการถ่ายภาพคือสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดในการถ่ายทอดความคิดของเขาให้โลกได้รับรู้
สิ่งแรกที่เขาทำในการสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายของเขาก็คือการเดินทางออกจากบ้านไปท่องโลก จากประเทศโกตดิวัวร์ (ไอวอรี่โคสต์) ในทวีฟแอฟริกา ไปนิวยอร์ค วอร์ซอร์ เบอร์ลิน ฟลอเรนซ์ เม็กซิโก แม้กระทั่งประเทศจีนและรัสเซีย เป็นไข้ป่าจนเกือบเสียชีวิต รวมถึงการติดคุกและแหกคุกตอนสงครามโลก ประสบการณ์ในการพบปะผู้คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมต่างวิธีคิด ทำให้เขามี “ต้นทุน” ในการเล่าเรื่องได้หลากหลายทั้งด้านกว้างและด้านลึก
แน่นอนว่าด้วยบริบทของชีวิตที่ต่างกันไม่อาจทำให้เราทุกคนลุกขึ้นเลิกเรียนหรือลาออกจากงานแล้วออกเดินทางไปท่องโลกอย่างที่ HCB ทำ แต่เราสามารถนิยามคำว่า “การเดินทาง” ของเราเป็นการเดินทางออกจากพื้นที่ความคุ้นชิน (Comfort Zone) ซึ่งบางครั้งก็อยู่ใกล้มากจนเรานึกไม่ถึงเช่นซอยข้างๆบ้าน ถนนใกล้ๆ ที่ทำงาน ชุมชนในอำเภอหรือจังหวัดเรา ลองนึกดูว่าเรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าว รู้มั้ยว่ามีกลุ่มคนประเภทไหนอาศัยอยู่ ทำอาชีพอะไรกัน เชี่ยวชาญอะไรเป็นพิเศษมั้ย บ้านเรือนและผู้คนเหมือนหรือแตกต่างกับพื้นที่อื่นอย่างไร อยู่มานานหรือยังแล้วต่อไปจะกลายเป็นอะไร ผมคิดว่าถ้าเราตอบคำถามเหล่านี้ได้ไม่ชัดเจนนัก เราก็น่าจะลองเดินทางเข้าไปสำรวจเรื่องราวในพื้นที่เหล่านั้นดู ข้อดีอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพแนวสตรีทโฟโตก็คือทุกครั้งที่เข้าไปในพื้นที่ใดก็ตาม เราจะพบกับผู้คนและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ยิ่งเดินทางเข้าไปมากครั้งก็จะได้ภาพและเรื่องราวที่เติมเต็มประสปการณ์ใหม่ๆ ให้เราได้ทุกครั้ง
ผมเชื่อว่าภาพถ่ายซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียงแค่เสี้ยววินาทีของการยกกล้องขึ้นเล็ง จัดองค์ประกอบภาพแล้วกดชัตเตอร์นั้นแตกต่างกันตรง “ต้นทุน” ที่มีอยู่ไม่เท่ากันในตัวช่างภาพแต่ละคน และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาพสตรีทโฟโตที่ถ่ายโดยช่างภาพที่เดินทางอยู่บ่อยๆ มีเสน่ห์และเรื่องราวแตกต่างจากภาพที่ถ่ายโดยช่างภาพที่ไม่ค่อยได้ออกเดินทางเท่าไหร่นัก
ภาพเดียวเอาอยู่
ความท้าทายของการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายภาพเดียวคือ ช่างภาพมีเวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการตัดสินใจว่าจะกำหนดกรอบภาพในช่องมองภาพ (viewfinder) แค่ไหน มุมกว้างแคบอย่างไร เก็บหรือไม่เก็บอะไรไว้บ้าง ต้องการแสงเงาแบบไหน กดชัตเตอร์ที่จังหวะไหนจึงจะเป็นภาพที่เล่าเรื่องได้ดีที่สุดบนข้อจำกัดของเครื่องมือและเวลาที่มีอยู่ ผมเชื่อว่า “ความคมชัด” ในการเล่าเรื่องนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสองสามประการดังนี้
(Left) Nils Jorgensen, (Right) Siegfried Hansen
1.
ประการแรกคือเรื่องที่จะเล่าจากต้นทุนที่มีอยู่ในตัวช่างภาพแต่ละคน ตามที่กล่าวถึงในหัวข้อที่แล้ว หลายคนที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยด้วยบอกว่าภาพที่เขาถ่ายมานั้น เขาไม่ได้คิดอะไรหรอก ถ่ายมาตามที่เห็น ซึ่งผมได้บอกไปว่า ไม่จริงหรอก เพราะผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการตัดสินใจในระดับจิตใต้สำนึก (sub consciousness) ที่ประมวลผลจากความรู้+ประสปการณ์+ทัศนคติการมองโลกต่างๆ ที่ทำให้เขาตัดสินใจวางกรอบภาพและกดชัตเตอร์ในจังหวะและวินาทีนั้น มันอาจจะเกิดขึ้นเร็วมากจนเราอาจจะไม่รู้สึกตัวว่าเราคิดอะไรอยู่ ถ้ามีเวลาลองเลือกรูปของเราที่เราชอบที่สุดชุดหนึ่งมาพิจารณาดูดีๆ เราอาจจะเห็นรูปแบบอะไรบางอย่างที่สามารถบอกได้ถึงความคิดเบื้องหลังภาพถ่ายของเราที่แม้แต่เราเองก็ไม่เคยรู้มากก่อนก็ได้ ลองดูนะครับ
2.
ประการที่สองคือความเข้าใจและเอาอยู่กับเครื่องมือที่ใช้ ในการถ่ายภาพใดๆ ก็ตามจำเป็นอย่างยิ่งที่ช่างภาพต้องเข้าใจข้อดีและข้อจำกัดของอุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ โดยเฉพาะในการถ่ายภาพแนวนี้ที่เราไม่สามารถทำซ้ำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นตรงหน้า ในกรณีที่เราพลาดที่จะเก็บเสี้ยววินาทีนั้นไว้เพราะวัดแสงผิดหรือโฟกัสหลุด เป็นต้น
เราสามารถศึกษาวิธีการต่างๆ ที่ช่างภาพรุ่นก่อนๆ ใช้ แล้วเลือกฝึกฝนวิธีการที่ถูกกับจริตและเครื่องมือของเราให้ช่ำชอง เช่นผมเองชอบที่จะใช้เลนส์มือหมุนมากกว่าเลนส์ออโต้โฟกัส เพราะเชื่อใจสายตาตัวเองมากกว่าระบบออโต้โฟกัสของกล้องโดยเฉพาะในบริเวณที่มีแสงและการเคลื่อนไหวที่หลากหลายที่บ่อยครั้งทำให้ระบบออโต้โฟกัสสับสน หรือฝึกการถ่ายโดยไม่ต้องโฟกัสด้วยการตั้งระยะโฟกัสตายตัวไว้ที่ 3 เมตรหรือ 5 เมตร แล้วตั้งหน้ากล้องแคบๆ ไว้ที่ F/8 หรือ F/11 เพื่อใช้ระยะชัดลึก (Dept of Field) ช่วย เวลาถ่ายก็ใช้วิธีการเดินเข้าเดินออกให้ระยะห่างจากกล้องถึงตัวแบบอยู่ในระยะที่ตั้งไว้แทนการโฟกัส เป็นต้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้เราสามารถถ่ายภาพตามเรื่องราวที่เราคิดได้ในทันทีที่ต้องการ โดยไม่ต้องมาเสียเวลาตั้งปรับค่าต่างๆในกล้อง เพราะแค่หนึ่งวินาทีที่เสียไปมีผลอย่างมากกับจังหวะและอารมณ์ของภาพที่ได้ ที่สำคัญก็คือเราอาจไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกเลย
3. ประการที่สามคือการฝึกฝนที่มีเป้าหมาย คำพูดหนึ่งของ HCB ที่นักถ่ายภาพสตรีทโฟโตมักจะนำมาถกเถียงกันคือ