Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
ความสวย ไม่สมบูรณ์แบบ ของ ดาว วาสิกศิริ
Posted by Akkara Naktamna - Oct 30, 2012 11:51


บทสัมภาษณ์โดย ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
10 พ.ย. 2550 
 
ใครหลายคนที่ได้เห็นภาพของ ดาว วาสิกศิริ ในระยะหลังมักอดเกิดคำถามขึ้นในใจไม่ได้ว่า ทำไมชัตเตอร์ของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 5 สุดยอดช่างภาพโฆษณาของเมืองไทยเกิด 'หลุดเฟรม' เอาดื้อๆ
 
ภาพกลุ่มเด็กกำลังง่วนอยู่กับฟุตบอลที่ออกรกตาคนดูในจำนวนของแบบที่เยอะเกินไป ภาพขึ้นสแตนด์เชียร์ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ไม่ได้แสดงถึงความพร้อมเพรียงและเป็นหนึ่งเดียว ในทางกลับกัน บางคนใส่เสื้อสีเขียวโดดขึ้นมา ขณะที่อีกหลายจุดของภาพคือ กลุ่มเด็กนั่งคุยกันโดยไม่สนใจเกมที่อยู่ตรงหน้า บางคนนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ และสีหน้าท่าทางต่างๆ
 
"มันเป็นความตั้งใจของผมครับ" เจ้าตัวยืนยัน
 
จากประสบการณ์การถ่ายภาพโฆษณาที่อยู่บนความสมบูรณ์แบบมากว่า 20 ปี ทำให้วันนี้ 'งานส่วนตัว' ของเขาจะเน้นไปที่ความเรียบง่าย และเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่ 'เป็นจริง' ในสายตาช่างภาพคนหนึ่ง
 
เริ่มถ่ายรูปตั้งแต่เมื่อไหร่
 
ผมชอบถ่ายรูปตั้งแต่เด็ก พอเรียนเป็นเมเจอร์ด้านถ่ายรูป พ่อไม่ยอม ก็เลยไปเรียนสถาปัตย์ 2 ปี แล้วมีความรู้สึกว่า สงสัยจบสถาปัตย์จะต้องนั่งที่โต๊ะ ใส่สูท ผูกไท เลยไปเรียนที่อเมริกา สมัครเรียนภาพยนตร์ กับถ่ายภาพควบคู่กันไป เรียนจบ กลับมาเมืองไทย ก็อยากจะเป็นตากล้องหนังไทยในยุคนั้น เพราะชอบ แต่ปัญหาก็คือ เรายังไม่ค่อยรู้จักกับใครในวงการเท่าไร ในยุคนั้นเหมือนกับกองถ่ายมีอยู่แล้วก็คล้ายๆ ว่า ดึงพรรคพวกกันเองขึ้นมาเป็นตากล้อง เราไม่รู้จักใครก็เข้าไปเจาะไม่ได้ ก็เลยหันมาดูว่า เราจะเอาดีด้านภาพนิ่งได้ไหม เพราะตอนนั้นใจรักอย่างเดียวแล้ว ไม่รู้หรอกว่ามีอะไรบ้าง แล้วในที่สุดก็ ลองเอางานที่เราเก็บไว้เป็นโพรไฟล์เสนอพวกนิตยสาร ตอนนั้นจะเข้าไปในงานโฆษณา มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าโพรไฟล์เราไม่ได้แข็งพอที่จะไปรับงานโฆษณา ก็มีอยู่บ้างที่ถ่ายคนถ่ายอะไรเอาไว้ ก็พอที่จะเอาเข้าไปพรีเซ้นท์พวกนิตยสารแฟชั่นได้ ก็ค่อยๆ เก็บสะสมผลงานเรื่อยๆ ก่อนจะเริ่มเอางานเข้าไปหา เอเยนซี เพื่อรับงานโฆษณา
 
การถ่ายภาพโฆษณากับภาพถ่ายชนิดอื่นๆ ต่างกันยังไง
 
ต่างกันโดยสิ้นเชิง งานโฆษณามันเหมือนกับว่า มันไม่ใช่เราคนเดียวที่จะถ่ายภาพออกมาตามสไตล์เรา มันจะผ่านเรื่องมาร์เก็ตติ้งของสินค้า ตัวสินค้า เจ้าของสินค้า ความต้องการของตลาดคืออะไร เราจะเจาะกลุ่มไหน แล้วต้องมีแอดเวิร์คเกอร์เพื่อที่จะมาคิดเรื่องว่า แมสเสจมันคืออะไร มีก๊อบปี้ไรท์เตอร์ ก่อนจะมาถึงตัวช่างภาพที่จะทำตรงนี้ให้ออกมาเป็นภาพ สื่อให้กับคนดูได้เข้าใจ นั่นคือความแตกต่างกับงานถ่ายภาพทั่วไป ซึ่งตรงนั้นเราออกไปคนเดียว แล้วเราก็มีสไตล์ของเราชัดเจน แล้วเราก็จะไปตามหาสิ่งที่เราคิดว่าอยากที่จะพูด แล้วก็ถ่ายทอดออกมา นั่นคือตัวเราคนเดียว แล้วเราก็เลือกรูปเองทำอะไรเอง
 
เหมือนงานโฆษณาต้องอิงกับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก แล้ว 'ช่างภาพ' มีความจำเป็นขนาดไหน
 
แต่ก่อนมันเป็นเรื่องของประสบการณ์ คือ คุณจินตนาการมาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าช่างภาพจะสามารถทำได้ เรามองกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วนะ ก่อนมีเรื่องรีทัชหรือเรื่องของคอมพิวเตอร์ คือ เทคนิคของช่างภาพซึ่งต้องใช้กล้อง ต้องใช้แล็บ มันเป็นอะไรที่ต้องใช้ประสบการณ์จริงๆ แล้วมันก็ต้องมีการวางแผนให้ดีว่า อย่างอาร์ตไดเร็คเตอร์คิดคอนเซปต์นี้มา ซึ่งมันต้องใช้เทคนิคพิเศษในกล้องหรือแล็บ เราจะวางแผนทำงานยังไง เพราะเวลาเรามีอะไรที่มันมากกว่าแค่ถ่ายคน ต้องซ้อนภาพซ้อนอะไรต้องมีการวางแผน เพราะฉะนั้นตรงนั้นประสบการณ์จึงค่อนข้างจะสำคัญในหลายๆ เรื่อง ไม่เฉพาะแค่เทคนิค ทิศทางของแสง คุณต้องรู้เรื่องวัสดุด้วยว่า วัสดุสีนี้มันจะเด่นหรือมันจะดูดแสง หรือองศาของแสงจะต้องมาประมาณไหนรายละเอียดของภาพถึงขึ้น ซึ่งตรงนั้นในปัจจุบันมันต่างกัน สมัยนี้มันกลายเป็นว่าพอเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมาก ช่างภาพก็คือถ่ายรูปเพื่อจะมาประกอบ แล้วบางทีตัวเองก็ไม่ได้มาประกอบเอง ก็ให้คนอื่นมาประกอบ คือแค่เป็นส่วนหนึ่งที่จะถ่ายรูปนั้นแล้วเอามาประกอบ ตอนนี้กลายเป็นให้ความสำคัญของความเป็นช่างภาพน้อยลง แต่ไปให้ความสำคัญของคนที่จะมาประกอบภาพมากกว่า


 
ช่างภาพเลยเป็นแค่ส่วนประกอบของกระบวนการที่จะสร้างภาพขึ้นมา
 
ใช่ กลายเป็นว่าตอนนี้ความเป็นสไตล์ของช่างภาพไม่ชัด คนก็เลยมีความรู้สึกว่าไม่อย่างนั้นก็เอาใครก็ได้มาถ่ายเพื่อจะไปประกอบ ก็กลายเป็นว่าไอ้สไตล์ของภาพที่ออกมาจริงๆ แทบจะไม่เป็นสไตล์ของช่างภาพเลย ปัญหาของวงการตอนนี้ก็คือว่า จริงๆ ช่างภาพยังมีความสำคัญอยู่มาก เพราะสไตล์ของช่างภาพแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่หลายๆ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับช่างภาพ คือไปมองว่า ถ่ายยังไงก็ได้แล้วค่อยไปรีทัชเอา ไปประกอบอีกที ในขณะที่เมืองนอกเขาก็ยังให้ความสำคัญของความเป็นช่างภาพมาก ถึงมากที่สุด แล้วไปรีทัช หรือขั้นโพสต์ให้น้อยที่สุด เพื่อให้คงสไตล์ของช่างภาพอยู่
 
ทำไมที่โน่นถึงต้องให้ความสำคัญของช่างภาพมากกว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นไปทุกวัน
 
เวลาช่างภาพกว่าจะได้ทำงานสักงาน เขาต้องเอาผลงานไปให้ดูถูกต้องไหม แฟ้มงานนั้นจะแสดงความเป็นตัวของเขาเอง แล้วเวลาที่เขาได้งานก็ได้เพราะความเป็นตัวของช่างภาพคนนั้น แต่ไม่ใช่ได้งานเพราะช่างภาพถ่ายภาพติดแล้วเอาไปประกอบเป็นงานของคนอื่นอีกที บ้านเราจะมองอะไรที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับตัวเนื้องาน คือถ้าเด็กจบใหม่แต่งตัวเท่ หรือแต่งตัวอินเทรนด์หน่อยไปหาลูกค้า ลูกค้าก็บอกว่า เออ อย่างนี้น่าจะถ่ายได้ น่าจะเหมาะกับงานนี้ คือคุณดูจากภายนอกน่ะ บางครั้งนี่แฟ้มผลงานกลายเป็นรอง ซึ่งบางครั้งผมก็สงสัยเหมือนกันนะว่ามันเกิดอะไรขึ้น คือถ้าคุณไม่ได้แต่งตัวเทรนดี้เดินเข้าไป หรือลุคไม่ใช่ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องประสบการณ์นะ คุณเข้าไปนี่ติดลบในสายตาของลูกค้าแล้ว เขาจะ เฮ้ย แต่งตัวไม่ค่อยอินเทรนด์ แล้วจะมาถ่ายงานได้เหรอ อะไรอย่างนี้แล้ว แต่ต่างประเทศมันไม่ใช่ คุณเอาแฟ้มงานมาวางดูเลยว่าเป็นไง
 
ถ้าอย่างนั้นลักษณะงานภาพถ่ายโฆษณาเมื่อก่อนกับปัจจุบันต่างกันมากน้อยแค่ไหน
 
ต่างกันเยอะ ลึกๆ แล้วมันมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง บางอย่างมันไม่สามารถที่จะเก็บเนี้ยบได้เหมือนงานในสมัยนี้ เมื่อก่อนเราจะมีลิมิตในการทำงาน อย่างสมมติเราถ่าย แพ็คชอต (Packshort) ธรรมดา ที่เป็นตัวสินค้า ถ้าเกิดว่าจากโรงงานสกรีนมาไม่ดีคุณเลือกแทบตาย เวลามันสกรีนมาไม่ดีตัวโปรดักท์มันก็ไม่คม เพราะว่ามันมีเม็ดสกรีน แต่ในยุคนี้เหมือนกับว่าเราไปถ่ายมาแล้วก็มาแต่งได้ให้มันชัดขึ้น คมขึ้น แล้วก็เอาอาร์ตเวิร์คมาใส่ เพราะฉะนั้นความเนียน ความเนี้ยบมันมากกว่า แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็ต้องปล่อยไป หรือเราก็ต้องทำงานหนักขึ้น สมัยนี้ถ้าไม่เนี้ยบก็เอาเข้าคอมพ์ ส่วนดีก็คือมันทำให้เราสามารถทำงานได้เร็วขึ้น
 
การเข้ามาของระบบดิจิทัลทำให้คนเราใส่ใจในรายละเอียดน้อยลงด้วยหรือเปล่า เพราะยังไงก็สามารถแก้ในคอมพ์ได้
 
ก็มีส่วนเหมือนกันนะ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าในวงการโฆษณามันจะมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกก็คือ ใจรักการถ่ายภาพจริงๆ แล้วอยากทำงานโฆษณาให้ออกมาดี อีกประเภทหนึ่งก็คือ เข้ามาเพราะคิดว่าวงการนี้มันเท่ พวกที่ใจรักจริงๆ ก็จะทุ่มเทในรายละเอียด เพราะฉะนั้นภาพที่ปรากฏก็จะมาจากความตั้งใจจริงๆ
 
มุมมองหรือวิธีคิดของช่างภาพต่างประเทศกับช่างภาพคนไทยต่างกันอย่างไร
 
ผมบอกได้ว่า ถ้าเป็นงานโฆษณา บ้านเราจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างฟิกซ์กับเลย์เอาท์ คือลูกค้าจ่ายเงินเพื่อจะมีแอดชิ้นหนึ่ง สมมติแค่ถ่ายคน จะเป็นสินค้าอะไรก็ตาม เขาก็อยากจะรู้ว่าไอ้คนคน นั้นน่ะ เขาจะทำหน้าตายังไง เขาจะใส่เสื้อผ้าชุดเป็นยังไง คล้ายๆ กับว่า ต้องวาดให้ดูเลยว่า แบบจะทำหน้าตายังไงถึงจะเซ็นผ่าน ทีนี้เวลาตกมาถึงช่างภาพก็ต้องมีความใกล้เคียงตรงนั้น เพราะว่าอย่างอื่นเขาก็จะรับไม่ค่อยได้ แต่ถ้าเราคิดว่าเรามีอะไรดีกว่าตรงนั้นเราก็สามารถทำให้เขาได้ แต่ถ้าเป็นเมืองนอก ถ้าเป็นสินค้าที่จะถ่ายรูปคน เขาไม่ต้องการที่จะเห็นหรอกว่าแบบจะต้องทำอะไร ยังไง เขาวาดเป็นรูปไข่กลมๆ ให้ดูว่าเป็นหน้าคนนะ ส่วนช่างภาพก็เสริมเองว่า คาแรคเตอร์ของตัวแสดงจะให้อิงกับก๊อบปี้ได้แค่ไหน คือเขาไม่ต้องการเห็นเป๊ะๆ หรอกว่ามันจะออกมาเป็นยังไง มันอยู่ที่ช่างภาพตอนถ่าย มันจะต่างกันอย่างนี้ เมืองนอกถึงต้องการประสบการณ์ของช่างภาพมา บ้านเราพอเห็นเลย์เอาท์ปุ๊บก็หาคนมาถ่ายตามนั้น ช่างภาพก็ไม่ได้สร้างสรรค์อะไร หรือเสริมอะไรต่อมากนัก


 
งานถ่ายภาพในบ้านเรายึดติดรูปแบบมากเกินไป
 
อันนี้ก็ไม่รู้จะโทษใครนะ คือเราจะไปบอกว่าลูกค้าก็ไม่ได้ เพราะเขาจ่ายเงินเขาอยากเห็นเขาก็มีสิทธิที่จะเห็น เมื่อหลายปีก่อน ก่อนจะมีรีทัช ลูกค้าให้ถ่ายงานชิ้นหนึ่ง เอเยนซีขายงานไม่ผ่านสักที ก็ตัดสินใจว่าไปเอานิตยสารแฟชั่นเมืองนอกมาแอร์บรัชเอาเป็นเลย์เอาท์เลย ทีนี้ลูกค้าเห็นเขาก็ชอบทันที เพราะที่เขาเห็นนั้นเป็นซูเปอร์โมเดล ทีนี้พอถึงเวลาลูกค้าเขาหวังให้เป็นอย่างนั้นมันก็ไม่ได้ เพราะว่านางแบบก็ไม่ถึงเขา นางแบบเราก็หากันในนี้มันไม่ใช่ซูเปอร์โมเดลแน่นอน อะไรต่ออะไรมันก็ไม่ได้ สุดท้ายเลย์เอาท์ผ่านก็จริง แต่เนื้องานเราไม่ได้ถึงเขาไง อันนั้นมันก็เป็นระบบที่มันอันตรายนะ และเราก็รู้อยู่แล้วว่าก่อนถ่ายมันไม่ได้ แล้วคุณจะเอาอย่างนั้นเป๊ะ คุณก็ต้องไปเอาคนคนนั้นมาถ่ายจริงๆ แล้วให้มันได้อย่างนั้น แต่ถ้าเขากว้างหน่อยว่า คอนเซปต์มันเป็นอย่างนี้นะ ก๊อบปี้มันมาแบบนี้นะ ช่างภาพก็อินปรู๊ฟให้เต็มที่อยู่แล้ว แต่หลังๆ ลูกค้าที่สนิทกับเราเขาก็จะเข้าใจและให้อิสระให้การใส่สไตล์ของเราเองมากขึ้น
 
แสดงว่ากว่าช่างภาพจะ 'มีตัวตน' ขึ้นมาก็ต้องใช้เวลาพอสมควร
 
ต้องยอมรับว่าถ้าเลย์เอาท์มาชิ้นหนึ่ง เราก็ไม่รู้ว่าที่มาที่ไปมันคืออะไร แล้วบางทีไอ้สไตล์แบบนั้นไม่ได้เหมาะกับงานเรา แล้วโดยทั่วไปบ้านเราจะเป็นการใช้ช่างภาพโดยความเคยชิน เราทำกับคนคนนี้แล้วดี เราก็จะทำกับคนนี้ แต่บางทีสินค้ามันคนละอย่างกัน จริงๆ มันต้องแยกว่าคนคนนี้เหมาะกับการถ่ายสินค้าชนิดไหนมากที่สุด แต่เราจะเคยชิน ซึ่งมันก็ทำให้สไตล์ของช่างภาพแกว่ง บ้านเราหาสไตล์ชัดค่อนข้างยาก เพราะอย่างแฟชั่นก็ไปเปิดเอาของเมืองนอกมา บางทีมันเป็นตาของสไตลิสต์น่ะ เรื่องของแฟชั่นสไตลิสต์จะเข้ามามีบทบาทมาก ความเป็นตัวช่างภาพก็น้อยลง หรือถ้าเป็นงานโฆษณาความเป็นตัวช่างภาพก็น้อยลง เราไม่รู้ที่มาที่ไปว่าเป็นยังไง เมื่อเราต้องทำตามแบบที่มีมามุมมองของเราก็จะน้อยลง อาจจะได้เป็นสไตล์เรื่องไลติ้ง มุมมอง
 
แล้วตัวคุณเองกว่าจะค้นพบสไตล์ของตัวเองมันผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง
 
ก่อนอื่นผมต้องตั้งหลักก่อนว่า ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ คือตอนนั้นที่เป็นไฟน์อาร์ตเพราะว่า อยากทำ ก็เลยตั้งใจที่จะทำ ซึ่งแต่ละชิ้นก็มีที่มาที่ไป หลังๆ เราอายุมากขึ้น (ยิ้ม) ก็อยากจะทำงานที่เป็นไทยๆ มีมิติที่เป็นไทยๆ ถ่ายพวกสารคดีไว้ดีกว่า ก็เลยหันมาทำสตรีทอาร์ตมากขึ้น แต่สตรีทอาร์ตก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เป็นอะไรที่ง่าย เพราะว่าคนทำเยอะ แล้วทำได้ดีด้วย เราก็ต้องหาสไตล์ที่มันไม่เหมือนชาวบ้านเขา เพื่อจะมานำเสนอวิถีชีวิตแบบไทยๆ ผ่าน ก๊อบปี้เทเบิลบุ๊ค สักเล่มหนึ่ง การหาสไตล์ตรงนี้มันค่อนข้างใช้เวลา สำหรับผมรูปสวยก็อย่างหนึ่ง สวยก็คือสวยทุกคนก็ยอมรับ แต่คำถามต่อมาก็คือว่า แล้วมันยังไงต่อเหรอ เพราะว่ารูปสวยในหนังสือ ด้วยความที่มันสวยเราจำได้ เห็นภาพหมดเลย
 
แล้วรูปสวยส่วนใหญ่มันก็จะเล่าเรื่องครบในรูป ตรงนี้มันทำให้ผมดูครั้งเดียว เพราะเวลาเราคิดที่จะเปิดภาพมันอยู่ในหัวแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องเปิดอีก เรารู้แล้วว่าพระอาทิตย์มันตกตรงนี้ มันมาแบบนี้ เท่าที่สังเกตตัวเองมาจะรู้ว่าทำไมหนังสือสวยๆ แล้วเราไม่ค่อยเปิดดู สาเหตุก็เพราะว่าภาพนี้มันอยู่ในหัวแล้ว คือถ่ายรูปบางทีสวยแล้วเราก็ไม่กลับไปดูมัน ก็เลยพยายามเปลี่ยนมุมมอง ในที่สุดเวลาเราถ่ายแบบนี้ อีกสัก 2-3 อาทิตย์ เรากลับมาดูอีกเราก็จะเห็นอะไรแปลกใหม่อยู่ในรูปตลอดเวลา มันก็เป็นสไตล์ที่น่าสนใจ ทีนี้ก็เลยกลายเป็นว่า กึ่งดิบ เพราะในความดิบมันจะมีเรื่องราวหลายๆ อย่าง มันไม่จำเป็นต้องเป็นระเบียบมากไป ผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นเสน่ห์ของภาพ
 
ส่วนรูปสวยผมว่ามันเพอร์เฟคเกินไป ด้วยความที่มันไม่สมบูรณ์แบบมันทำให้เรามองไปถึงชีวิตจริง แล้วทำให้เราค้นหารายละเอียดในรูป อย่างรูปขึ้นสแตนด์เชียร์ของเด็กธรรมศาสตร์ถ้าจะให้เพอร์เฟคเด็กจะต้องใส่เสื้อสีเดียวกันหมด ทำอะไรพร้อมเพรียง แต่ในความไม่สมบูรณ์แบบเราจะเห็นเด็กที่ใส่เสื้อสีอื่น เห็นเด็กบางคนนั่งเล่นโทรศัพท์ บางคนคุยกับเพื่อน มันมีเสน่ห์ตรงนั้น แต่ถ้ามองไปภาพเพอร์เฟคหมด มันก็แค่สวยไง แต่มันไม่ได้มีอะไรที่เราจะเข้าไปค้นหา


 
คุณให้น้ำหนักกับ 'เรื่องราว' มากกว่า 'ความสวยงาม'
 
ใช่ ผมถึงบอกไงว่าคุณเอากล้องอะไรมาให้ผมถ่ายก็ได้ มันไม่ได้อยู่ที่ว่ากล้อง แต่อยู่ที่ว่าคุณทำอะไรกับมันมากกว่า ช่างภาพมันอยู่ที่มุมมอง วินาทีที่คุณเห็นภาพนั้นคุณจะกดไหม จะกดมุมไหน ถ้าไม่กดแล้วคุณจะกดเมื่อไหร่ แล้วความหมายมันคืออะไร ภาพที่ดีสำหรับผม ควรจะมีหลายชั้นในภาพ รูปนี้มันน่าสนใจนะ น่าสนใจยังไง เราก็หาเข้าไป มันมีหลายชั้นได้ รูปสวยบางทีมีเพียงชั้นเดียว มันอธิบายตัวของมันจบแล้ว และมันก็ไม่มีอะไรที่คุณต้องอ่านลึกลงไปอีก
 
ที่ทำให้เกิดแนวคิดอย่างนี้เป็นเพราะคุณผ่านอุปกรณ์ระดับสูงมาหมดแล้วหรือเปล่า
 
ก็มีส่วนนะ เพราะทุกวันนี้มันเหมือนเราคลายตัวเองออกมาแล้ว เวลาเราทำงานส่วนตัวเหมือนกับเราคลายจากงานประจำที่มีข้อเรียกร้องสูง แต่โดยปกติผมก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้นะ (ยิ้ม)
 
Presentable
 
DSLR ประจำตัว
 
"จริงๆ โดยส่วนตัวผมจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับฟังก์ชันของกล้องมากนัก แต่จะเน้นหนักไปที่มุมมองหรือความคิดของภาพมากกว่า ก็เลยจะเป็นกล้องตัวไหนก็ได้ แต่กล้องตัวนี้คิดว่าคุ้มค่าที่สุดของพวก SLR 35 มิลลิเมตรที่เป็นดิจิทัลแล้ว ใช้มาประมาณปีกว่า แล้วส่วนใหญ่ผมก็จะใช้ฟิล์ม งานโฆษณาก็จะเป็นไฮ-เอ็นดิจิทัล มันก็จะเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่แพงมากๆ แล้วก็ไม่เหมาะกับงานสตรีท พอหันมาถ่ายสตรีทมากขึ้นก็เอาตัวนี้มาใช้ "

http://www.streetphotothailand.com/DowWasiksiri
 

© 2012 - 2024 Street Photo Thailand