ถ้ากล่าวถึง Street Photography สไตล์อเมริกัน หากจะไม่เอ่ยถึง The Americans ก็คงจะไม่ครบถ้วนกระบวนความนัก ทั้งๆที่ช่างภาพที่ถ่ายทอด The Americans ไม่ได้ชาวอเมริกัน แต่กลับสะท้อนความเป็น "The Americans" ออกมาได้เฉียบคมและตรงไปตรงมา ทำให้ผมนึกถึงช่างภาพชาวต่างชาติหลายคนที่เข้ามาถ่ายภาพความเป็นไทยออกไปเผยแพร่จนโด่งดัง โดยที่ช่างภาพคนไทยได้แต่ยืนมองตาปริบๆ -- เป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบายจริงๆ
ช่างภาพคนที่ผมกำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้คือ Robert Frank

โรเบิร์ต แฟรงค์ (Robert Frank) เกิดในครอบครัวธุรกิจชาวยิวที่มั่งคั่งในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในปี 1924 ด้วยความมั่นคงทางการเงินของครอบครัวชาวยิว ทำให้ชีวิตวัยเด็กเขามีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบายเรียกได้ว่าฐานะดีกว่าเด็กในรุ่นราวคราวเดียวกันอยู่ค่อนข้างมาก (ลองคิดภาพของซูเนโอะในเรื่องโดราเอมอน)
ในช่วงนั้นอยู่ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเกิดขึ้น เยอรมันบ้านเกิดของผู้เป็นพ่อกำลังแผ่ขยายอำนาจไปทั่วภาคพื้นยุโรป สวิสเซอร์แลนด์วางตัวเป็นกลางในสงคราม นั่นอาจทำให้ช่วยปกป้องธุรกิจของพ่อเขาเอาไว้ได้ แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่บางประการ คือการที่ฮิตเลอร์ประกาศยกเลิกสัญชาติเยอรมัน-ยิวทั้งหมดลง ทำให้ผู้เป็นพ่อ ตัวโรเบิร์ต แฟรงค์ และแมนเฟรด (น้องชาย) อยู่ท่ามกลางความเสี่ยงเนื่องจากผู้เป็นพ่อถือสัญชาติเยอรมัน-ยิวทำให้สัญชาติตกมาถึงลูกทั้งสอง (ส่วนแม่ถือสัญชาติสวิสฯ) และไม่แน่ว่าเยอรมันอาจจะบุกเข้ามาในสวิสเซอร์แลนด์วันใดวันหนึ่งก็ได้

เหมือนโชคดีที่เยอรมันไม่บุกเข้ามา หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพราะการที่สวิสฯวางตัวเป็นกลางทำให้เยอรมันเกรงใจ ซึ่งไม่น่าจะใช่แน่ๆ -- เหตุผลลึกๆคือ แม้ประเทศจะอยู่ติดกันและง่ายต่อการยกพลข้ามแดนไปยึดครอง แต่ด้วยเพราะสวิสฯมีภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาสลับซับซ้อน และไม่มีความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ ทำให้เยอรมันยืดเวลาการบุกออกไป จนแพ้สงครามซะก่อน
ในช่วงวัยรุ่นโรเบิร์ตเกิดความรู้สึกต่อต้านความเป็นวัตถุนิยมและความมั่งคั่งทางธุรกิจที่ครอบครัวของเขามี เข้าทำนองคนรวยเบื่อชีวิตที่หรูหราอยากออกมาหาความแปลกใหม่ในชีวิตจนได้เจอรักแท้ :p เมื่อถึงเวลาที่จะต้องทำงาน เขาปฏิเสธงานในธุรกิจของครอบครัว และหันไปเป็นเด็กฝึกงานในด้านภาพถ่ายโดยที่งานนี้จะไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากกฎหมายระบุไว้ว่าคนสวิสเท่านั้นจึงจะได้รับค่าจ้างจากการฝึกงาน
งานแรกของโรเบิร์ตเปรียบเสมือนการฝึกตนอย่างแท้จริง เพราะงานที่เขาทำนั้นมีระเบียบแบบแผนและอนุรักษ์นิยมค่อนข้างมาก ตั้งแต่เทคนิคด้านน้ำยาเคมี ปฏิบัติการในห้องมืด การจดจำค่าต่างๆจากตารางรูรับแสง (Exposure Tables) การควบคุมคุณภาพของการไล่ระดับแสงเงา (Tone) ในการพิมพ์ภาพถ่าย รวมทั้งยังศึกษาหลักปรัชญาการถ่ายภาพต่างๆ เขายังได้รับอธิพลของการถ่ายภาพ Straight Photography ซึ่งค่อยๆกลืนกินการถ่ายภาพสไตล์ Pictorialism จนเกือบหมดสิ้น Straight Photography ที่ถ่ายทอดความเป็นจริงของเหตุการณ์โดยไม่มีการแต่งเสริมเติมแต่ง เน้นความคมชัดของภาพ การถ่ายภาพแขนงนี้เป็นเหมือนฐานสำคัญที่ได้สร้าง The Americans ต่อไปในอนาคต
ในวลาเดียวกับการยุติลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 โรเบิร์ต แฟรงก์ก็ได้สำเร็จการเป็นลูกมือฝึกหัด และได้เดินทางไปนิวยอร์คเมื่อปี 1947 ตอนนั้นเขาอายุ 22 ปี ด้วยการที่เขามีพอร์ตโฟลิโอที่แข็งแกร่ง ทำให้ได้รับเข้าทำงานอย่างรวดเร็วที่นิตยสารแฟชั่นชื่อดัง Harper’s Bazaar ตำแหน่งงานแรกของเขาคือ ช่างภาพแฟชันในสตูดิโอ ในการทำงานที่นี่เขาค่อนข้างผิดหวังกับขั้นตอนการทำงานในธุรกิจแบบอเมริกัน ทั้งทัศนคติของบรรณาธิการที่คิดว่า "ทุกเวลาที่เสียไป คือ เงิน" นั่นเป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนความเป็นธุรกิจครอบครัวที่ครอบงำเขามาตลอดชีวิต
ไม่นาน Harper’s Bazaar ก็ปิดสตูดิโอถ่ายภาพ in-house ลง ทำให้โรเบิร์ตถูกเลิกจ้าง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางถ่ายภาพ ตั้งแต่ปี 1948-1953 เขาเดินทางไปอเมริกาใต้ ยุโรป นิวยอร์ค และกลับไปบ้านเกิดของเขาเองที่สวิสฯ เขาแต่งงานเมื่อปี 1950 มีลูกสองคนคือ Pablo กับ Andrea โรเบิร์ตพกกล้องไปในทุกๆที่ ภาพถ่ายของเขาเน้นในเรื่องสังคม วัฒนธรรม และการเมืองในที่ๆเขาไป และหัวข้อที่เขาให้ความสำคัญคือการถ่ายภาพชีวิต และสภาพความเป็นไปของสังคมอเมริกัน ในช่วงเวลานี้โรเบิร์ต แฟรงก์เริ่มเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากขึ้นเป็นลำดับ งานของเขาได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารถ่ายภาพ ได้จัดแสดงภาพถ่ายในแกลเลอรีเล็กๆทั้งที่ซูริค และนิวยอร์ค รวมถึงได้ตีพิมพ์หนังสือภาพถ่ายออกมาบ้างเล็กน้อย และเมื่ออยู่ในสังคมของคนถ่ายภาพ เขามักจะพูดถึงผลงานของนักเรียนถ่ายภาพที่มีความคิดสดใหม่อยู่เสมอๆ
มีนักวิจารณ์เคยเขียนถึงโรเบิร์ต แฟรงค์ไว้ว่า
"งานที่ปราศจากการจัดฉาก เต็มไปด้วยความสุขุม และไร้มารยา ทั้งหมดเกิดขึ้นจากเข้าถึงมนุษย์ได้อย่างไร้ที่ติ"
ความปราณีตในการเลือกขนาดรูรับแสงแสดงให้เห็นว่าโรเบิร์ต แฟรงค์ได้รับการศึกษาด้านการถ่ายภาพอย่างเป็นระบบ ในขณะเดียวกันการจัดการสิ่งต่างๆที่ยากจะควบคุมก็พิสูจน์ได้ถึงความสามารถอันรอบด้านของโรเบิร์ต แฟรงค์ เทคนิคสำคัญของโรเบิร์ต แฟรงค์ จะใช้เลนส์มุมกว้างในการเข้าหา Subject ให้ใกล้มากเท่าที่จะทำได้ เขาใช้ฟิล์มความไวแสงสูงภาพใต้สภาพแสงน้อย รวมถึงการจัดองค์ประกอบภายในภาพซึ่งดูเหมือนเขาจะให้ความสำคักับสิ่งนี้เทียบเท่า หรือมากยิ่งกว่าเรื่องแสงเงา เส้นสาย และรูปทรงเสียอีก มีนัยยะสำคัญบางอย่างบอกว่า เขากำลังทำให้ภาพถ่าย Photojournalism ของเขาออกมาในรูปของงานศิลปะ ดังที่โรเบิร์ต แฟรงค์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "ผมอยากให้ใครก็ตามดูภาพของผมเหมือนกับการอ่านบทกวีที่บรรทัดเดิมซ้ำสองครั้ง"
เมื่อโรเบิร์ตมาที่นิวยอร์คในปี 1947 เขาเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและเต็มไปด้วยพลังอย่างมาก แต่การกลับมาในปี 1953 ดูเหมือนไฟในตัวจะมอดลง เขาเริ่มเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเขาได้ตัดสินใจทำอะไรที่สำคัญที่สุด 2 อย่าง หนึ่ง เขาเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นคนอมเริกัน สอง เขาเข้าไปขอทุนกับทาง Guggenheim Foundation เพื่อทำโปรเจคถ่ายภาพในอเมริกาประเทศที่เขามาฝากชีวิตไว้ ผลลัพธ์ของการตัดสินใจทั้งสองข้อของเขาคือ The Americans ที่ทำให้ชื่อของโรเบิร์ต แฟรงค์กับวัฒนธรรมอเมริกันไม่อาจแยกจากกันได้

สองปีหลังจากการเดินทางถ่ายรูปและอยู่ในช่วงการรอ The Americans ฉบับที่ตีพิมพ์ในอังกฤษ เขาได้เริ่มโปรเจคใหม่ นั่นคือ From The Bus (1958) โรเบิร์ตได้รับอนุญาตให้เดินทางไปบนรถประจำทางสายต่างๆเพื่อถ่ายภาพกิจกรรมของผู้คนจากกรอบหน้าต่างรถประจำทาง ปรากฎว่างานชิ้นนี้เป็นงานที่เป็นที่ชื่นชอบของคนอเมริกันอย่างมาก
From The Bus ก็เช่นเดียวกับ The Americans เป็นการเล่าเรื่องโดยจัดเรียงภาพอย่างเป็นลำดับ (Photo Essay) ไม่น่าแปลกเลยที่โรเบิร์ตเริ่มที่จะสนใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์ หลังจากตีพิมพ์ The Americans เวอร์ชันอังกฤษไม่นาน เขาก็วาง Leica และหันไปหากล้องถ่ายทำภาพยนตร์เป็นเวลานานถึง 15 ปี
โรเบิร์ตทำภาพยนตร์ออกมาจำนวนหนึ่งโดยมีจำนวนสองเรื่องที่จัดได้ว่าเป็นภาพยนตร์ "ขั้นเทพ" เรื่องแรกคือ Pull My Daisy ส่วนเรื่องที่สองเป็นภาพยนตร์สารคดีอื้อฉาวของวงดนตรีร็อค โรลลิ่ง สโตน: Cocksucker Blues ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์ Road Trip ที่ "โดดเดี่ยว และสิ้นหวังอย่างถึงที่สุด" ด้วยเหตุที่โรเบิร์ต แฟรงค์สร้างออกมาอย่างตรงไปตรงมาหนังจึงเต็มไปด้วยเรื่องยาเสพติด และเซ็กซ์ ผลที่ตามมาคือวงโรลลิ่ง สโตนถูกระงับไม่ให้ออกทัวร์คอนเสิร์ตอีก โรเบิร์ต แฟรงค์โดนฟ้องไม่ให้ออกเผยแพร่สารคดีชิ้นนี้ แต่สุดท้ายศาลได้ตัดสินอย่างมีนัยยะสำคัญและแปลกประหลาดว่า สามารถจัดฉายสารคดีนี้ได้ปีละ 5 ครั้งโดยที่ต้องมีการปรากฏตัวของโรเบิร์ต แฟรงค์ด้วย
ปี 1971 โรเบิร์ต แฟรงค์ซื้อกระท่อมเล็กๆที่ Mabou ชนบทอันห่างไกลในแคนาดา และเริ่มหันกลับมาถ่ายภาพนิ่งอีกครั้ง เขาใช้กล้อง Leica และกล้องโพราลอยด์ถูกๆถ่ายภาพออกมาด้วยองค์ประกอบเรียบง่าย แต่มีความแตกต่างจากงานชิ้นก่อนๆของเขา
หาก The Americans และ From The Bus คือสิ่งที่เขามองโลกภายนอก ภาพถ่ายที่ Mabou คือสิ่งที่โรเบิร์ต แฟรงก์มองเข้าไปในจิตใจของตัวเอง ภาพถ่ายของเขาเต็มไปด้วยสภาวะเศร้าซึมส่งผลให้งานของเขาได้รับความนิยมขึ้นไปอีก ความเศร้าโศกที่ซึมแทรกอยู่นั้น แน่นอนว่ามันไม่ได้ถูกเซ็ทขึ้น หรือออกมาจากสิ่งต่างๆที่บรรยายอยู่ในภาพเท่านั้น แต่มันออกมาจากโศกนาฏกรรมที่โรเบิร์ต แฟรงค์เคยได้รับ

ลูกชายของเขา Pablo ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคจิตเภทเมื่อตอนต้นปี 1970 และในที่สุดเขาต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เคราะห์กรรมยังไม่หมดเท่านั้นลูกสาวของเขา Andrea ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่กัวเตมาลา ในปี 1974 เหตุการณ์ทั้งหลายนี้ได้บิดรูปแบบและแนวคิดในการนำเสนอภาพถ่ายของเขาให้มีความรุนแรง และแสดงถึงความเจ็บปวดทางด้านจิตใจอย่างถึงที่สุด
โรเบิร์ต แฟรงค์ไม่ค่อยชอบภาพถ่ายเดี่ยวๆ เพราะมันไม่สามารถสื่อสารถึงเรื่องราวได้ทั้งหมด เขาจึงทำให้ The Americans และ From the Bus ออกมาเป็นการนำเสนอเป็นแบบ Photo Essay ที่เล่าเรื่องราวด้วยการเชื่อมต่อกันของชุดภาพถ่าย เมื่อวิธีนี้ตอบสนองความต้องการของเขาไม่ได้ เขาจึงหันไปหาภาพยนตร์ และหลังจากลูกสาวเสียชีวิตวิธีการเล่าเรื่องของเขาก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง เขาเริ่มเขียนสิ่งต่างๆลงบนภาพถ่าย และขูดฟิล์มเนกาทีฟ รวมถึงการจับเอาภาพถ่ายหลายๆใบมารวมอยู่ในเฟรมเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าเขาไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของเขาผ่านการจัดเรียงองค์ประกอบภาพแบบเก่าๆได้ ดังเช่นภาพถ่าย 9 ใบเมื่อปี 1975 มีภาพถ่าย 4 ใบที่ว่างเปล่า 4 ใบที่ถูกทำให้เสียหาย และอีกหนึ่งใบที่เหลือภาพสมบูรณ์นั่นคือ ภาพถ่ายรอยยิ้มของลูกสาวของเขา พร้อมทั้งถ้อยคำอันอ้างว้างที่ถูกเขียนลงบนภาพถ่ายใบหนึ่ง

for my daughter Andrea who died in an Airplane crash in TICAL in Guatemala on Dec 23, Last year. She was 21 years and she lived in this house and I think of Andrea every DAY.
ยี่สิบปีหลังจากที่ Andrea จากไป Pablo ลูกชายของเขาก็เสียชีวิตลงในโรงพยาบาลที่เพนซิลวาเนีย
ตลอดช่วงชีวิตของโรเบิร์ต แฟรงค์ได้รับชื่อเสียงมากมาย นับตั้งแต่ช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของ The Americans จนถึงได้รับรางวัล Hasselblad Award ในปี 1996 แต่เชื่อแน่ว่าเขาจะยอมโยนชื่อเสียงเหล่านั้นทิ้งไปเพื่อแลกกับสิ่งอันเป็นที่รักของเขากลับคืนมา
by
Akkara Naktamna