Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
BILL CUNNINGHAM ช่างภาพแฟชั่นข้างถนน ผู้ร่ำรวยความสุข
Posted by Street Photo Thailand - Jun 24, 2015 23:38


วันก่อน ระหว่างที่เปิดหาคลิปความรู้เรื่อง Street Photo ไปมา บังเอิญเหลือบไปเห็นชื่อหนังสารคดีที่ผ่านตาบ่อยครั้ง แต่ไม่ได้ดูสักที นั่นก็คือ “Bill Cunningham New York” สารคดีของช่างภาพสตรีทสายแฟชั่นชื่อดังของ The New York Times ที่สิงสถิตอยู่ใน New York มาเกือบทั้งชีวิต เหล่าเซเลบ ดารา เหล่าบ.ก.นิตยสารยักษ์ใหญ่ (เอาเป็นว่าระดับ Anna Wintour ) ต้องเกรงใจ แต่แกกลับใช้ชีวิตเรียบง่ายมาก ง่ายมากซะแบบคนทั่วไปมองว่าจนนั่นแหล่ะ ที่สำคัญคือแกอายุอานามก็ปาเข้าไป 86 แล้ว
 
เราชอบดูงานสตรีทของศิลปินทุกยุคทุกสมัย ซึ่งแต่ละคนสไตล์ก็แตกต่างกันไปตามบุคลิกนิสัยใจคอ แต่สำหรับแนวแฟชั่นนี่เรายอมรับเลยว่า ไม่ค่อยได้ดูเท่าไหร่ คืออาจจะชอบแนว Street Portrait อยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขนาดเจาะจงแบบลุงแกนี่ ก็เลยเป็นสาเหตุที่ปล่อยผ่านสารคดีเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆไป
 
แต่ด้วยอะไรมาสะกิดต่อม ก็เลยลองเปิด Netflix หาดู ดันมีซะอีกแน่ะ.. (จริงๆแล้วถ้า search ใน youtube ก็มีนะ) ต้องบอกเลยว่าตลอดเวลาชั่วโมงกว่า Bill Cunningham New York เป็นสารคดีที่ดีเรื่องนึง แบบสะกดให้นั่งดูทุกประโยคในหนังได้ ส่วนหนึ่งก็คงเพราะ พลังของลุงแกดึงให้เราสนใจอย่างอยู่หมัด
 
พอดูจบนี่พลังพลุ่งพล่าน ไม่ใช่แค่เรื่องการถ่ายรูปเท่านั้น แต่รวมไปถึงการใช้ชีวิตด้วย (จริงๆประเด็นหลังนี่แข็งแรงกว่าประเด็นแรกอีก) ก็เลยสรุปเป็นใจความสั้นๆลงใน facebook ตัวเอง ปรากฏว่ามีคนสนใจลุงแกเยอะ ก็เลยคิดว่า งั้นเขียนในบล็อกเลยดีกว่า หมดเรื่อง..
 
Bill Cunningham เริ่มต้นการถ่ายรูปจากการเข้ามาทำงานโฆษณาใน New York จนเริ่มเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับแฟชั่น แกได้กล้องตัวแรกจากช่างถ่ายภาพคนหนึ่งเมื่อปี 1966 เป็นกล้อง Olympus Pen D ซึ่งเป็นกล้อง Half Frame ในตำนานเลยล่ะ แกว่าไปว่า ช่วงนั้นแกใช้มันเสมือน “ปากกา” ในการจดบันทึกทุกสิ่งอย่างเป็นภาพ ตามชื่อกล้องนั่นแหล่ะ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นช่างภาพสตรีทสายแฟชั่น



จุดเด่นในงานของ Bill Cunningham คือ แกไม่เคยมองใครว่าเป็นเซเลบ เป็นดารา (เพราะแกเองก็ไม่รู้จัก หนังก็ไม่ดู ทีวีก็ไม่มี) แต่แกมองที่เสื้อผ้าเท่านั้น และถ่ายมันด้วยความเป็นธรรมชาติ ไม่มีการเซ็ท (นี่เป็นจุดแรกที่ทำให้แกดัง เมื่อปี 1978 แก Snap ภาพของ Greta Garbo ดาราฮอลลีวูดชื่อดังในยุค ’20 – 30s โดยที่แกไม่รู้ว่าเป็นใคร จนงานออกมาอย่างธรรมชาติ)
 
แก Snap อย่างรวดเร็วในจังหวะที่แกต้องการ (คล้ายๆปาปารัสซี่นั่นแหล่ะ แต่เก๋กว่าเยอะ) และแกเรียบเรียงงานออกมาเป็นเซ็ทได้อย่างสวยงาม มีพลัง


ตัวอย่างคอลัมน์ที่ลุงแกทำใน The New York Times

เราคงไม่ได้จะมาเขียนเล่าสารคดีเรื่องนี้ให้ได้อ่านกัน เพราะมันดูเสียอรรถรสสำหรับคนที่คิดว่าจะไปเปิดดู เหมือนการที่เพื่อนสปอยล์หนังให้เราฟัง ซึ่งเราก็คงอยากถีบหน้าเพื่อนมากทีเดียว เอาเป็นว่าเราอยากสรุปเป็นหัวข้อ “แรงบันดาลใจ” จากลุงในการใช้ชีวิตดีกว่า และอยากให้ไปหาดูเอาเอง
 
ข้อที่ 1 “จงเลือกทำงานที่เรามีความสุข”



ฟังดูกระแดะดีทีเดียว เรานั่งคุยกับคุณภรรยาว่า ดูสิ.. อายุ 86 (ในสารคดีแกอายุสัก 81-82 ได้) แต่กลับ Snap ภาพได้อย่างรวดเร็ว จนเราอายเลย บางช็อตนี่คิดว่ากูคงเส้นพลิกแน่ แต่ลุงแกก็ถ่ายอย่างคล่องแคล่ว และถ้าเห็นแววตา แกเหมือนเด็กน้อยที่ตื่นเต้นกับ subject อยู่ตลอดเวลา ดูมีความสุขมากซะจนน่าอิจฉา สรุปได้ว่าด้วยจิตใจที่ดี ร่างกายก็ดีตาม ความสุขในงานที่ทำ สำหรับเราเลยคิดว่าไม่ใช่แค่เราชอบมันเท่านั้น แต่หมายความถึง งานนั้นมันทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีด้วย

พอวิเคราะห์ชีวิตความเป็นอยู่ดั่งรูหนู อาหารการกินที่เอาถูก เอาง่าย แกก็น่าจะเป็นสายตรงข้ามกับ Steve Jobs ที่กินมังฯมาเกือบทั้งชีวิต ดูแลการกินเป็นอย่างดี และชีวิตความเป็นอยู่อันแสนสบาย แต่..ดูอายุและสุขภาพสิของสองคนนี้สิ..

อะไรคือความแตกต่าง? โอเค Steve Jobs ก็คงทำสิ่งที่รักเช่นกัน แต่เชื่อว่าภาวะความตึงเครียดของงานนั้น ต่างกันราวฟ้ากับเหว (หาอ่านได้ในหนังสือที่ Walter Isaacson เขียนนั่นล่ะ) นั่นก็คงเป็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัด (ลุง Bill นี่แกก็มีความ Perfectionist ในงาน ไม่น้อยไปกว่า Jobs เช่นกัน) เพราะฉะนั้น มนุษย์บ้านๆอย่างเราๆ เลยต้องหันมาสำรวจตัวเองว่า งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ทำให้สุขภาพจิตเราดีอยู่หรือเปล่า และมันบั่นทอนจิตใจเราอยู่บ่อยๆหรือเปล่า เมื่อจิตใจมันถูกบั่นทอน สุดท้ายมันก็คงทำร้ายร่างกายและชีวิตเราอย่างรวดเร็ว

ข้อที่ 2 “แบกภาระในชีวิตให้น้อยที่สุด”
 

เตียงนอนเล็กๆในห้องที่แกพักอยู่
 
ระหว่างที่เราดูสารคดีไป เรานึกถึงหนัง “Up in the air” ขึ้นมาทันใด สิ่งที่พระเอกแนะนำเรื่องการยกเอาภาระที่มากมายในชีวิตออกซะ เพราะมันก็เหมือนมีสัมภาระมากมายอยู่ในเป้ที่เราแบกอยู่ เมื่อเรามีน้อย เราก็ตัวเบา ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องเหนื่อย เหมือนมีของแบกอยู่เต็มหลัง ซึ่งถ้าใครได้เห็นสตูดิโอที่ลุงแกอยู่ (ไม่มีแม้แต่ห้องน้ำในตัว) กล้องที่แกใช้ ยังคงเป็นกล้อง Nikon FM2 ตัวเดียวมาหลายสิบปี (แถมใช้แค่ฟิล์มถูกๆ) จักรยานที่แกขี่ (เป็นพาหนะเดียวที่แกมี) เสื้อผ้าที่แกมี (เนื่องจากห้องแกไม่มีตู้เสื้อผ้า และแกใช้เสื้อแบบเดิม สีเดิมตลอดจนเป็นเอกลักษณ์) ทำให้เราเห็นได้ว่า ชีวิตคนเรา มีสิ่งที่ “จำเป็น” กับชีวิตอยู่น้อยกว่าความ “ต้องการ” ส่วนตัวขนาดไหน และเมื่อมีน้อย ชีวิตกลับมีความสุขดีกว่ามีมากซะอีก
 
ข้อที่ 3 “Money is the cheapest thing. Liberty and Freedom is the most expensive”
 
 
โอว.. ประโยคนี้จี๊ดใจมาก พาลให้เรานึกถึงเหล่านักการเมือง นักธุรกิจบางคน ที่แม้จะมีเงินมหาศาล กลับหาอิสรภาพในชีวิตไม่ได้ มันอาจจะฟังดูเท่เกินไป แต่เผอิญว่าลุงแกแม่งเป็นงั้นได้จริงด้วย เงินซื้อความอิสระของแกไม่ได้ การที่ทุกๆวัน ลุงแกขี่จักรยานไปทั่วเกาะแมนฮัตตัน ยืนมองหา Subject โดนๆ ได้ถ่ายในสิ่งที่แกรัก มันให้ความรู้สึกว่าเรากำลังดูนกที่บินบนฟ้าโล่งๆกว้างๆ น่าอิจฉาเป็นที่สุด
 
บทสรุปสุดท้าย แกก็ยังทำงานที่แกรักต่อไป ขี่จักรยานบ้านๆ (ที่แกบอกว่าโดนขโมยมาแล้ว 28 คัน) กินแซนวิชและกาแฟถูกๆ สะพายกล้องฟิล์มเก่าๆ (สองสามปีหลังแกใช้กล้องดิจิตอลด้วย แต่ก็เป็นรุ่นเก่ามาก Nikon D40X คือเราก็ใช้รุ่นนี้ ซื้อเมื่อ 7-8 ปีก่อนเพราะมันถูกและดี!) ใส่เสื้อเดิมๆ ไปถ่ายรูปแฟชั่นที่แกรัก และยังทำคลิปแนะนำแฟชั่นในเวบของ The New York Times ที่ชื่อคอลัมน์ On the street
 

Bill Cunningham New York หนังสารคดีที่อยากให้ดูกันนะ
 
หลังจากที่เราดูจบ ปิดไฟนอน มันเหมือนมีความรู้สึกดีๆตกตะกอนในความคิด ไม่ใช่แค่ในมุมการถ่ายรูป แต่มันคือการที่ทุกวันเราลืมตาขึ้นมาใช้ชีวิต ต้องมาทบทวนว่า ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตแบบไหน เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก เราได้ดูแลชีวิตเราดีแค่ไหน หรือมัวแต่ใช้ชีวิตหมดไปกับ “the cheapest thing” อย่างที่ลุงแกว่า
 
** เกร็ดเพิ่มเติมนิดหน่อย **
 
 
Bleu de Travail French Work Jacket เป็นแจ็คเก็ตคลาสสิคที่แกใช้มานับสิบปี ด้วยเหตุผลเรื่องความคงทน (คือแกว่า ด้วยความที่ต้องสะพายกล้องตลอดเวลา ทำให้มันสีกับเสื้อผ้าปกติแล้วขาดง่าย)
 
บทความ โดย SUN

© 2012 - 2024 Street Photo Thailand